เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ที่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัด นางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น คงจะรู้จัก ยูคาอิ ชิมิซึ เป็นอย่างดี โดยเขาจะมีถึงสองบทบาท คือหนึ่ง นักวิ่งมาราธอนระยะไกล ที่จะคอยทักทายผู้คนในทุกเช้า ส่วนอีกหนึ่งบทบาทก็คือ ผู้ให้คำปรึกษาคนในชุมชนในฐานะ พระ สำหรับชาวไทยพอได้ฟังอาจจะคิดว่าแปลก แต่สำหรับคนญี่ปุ่นคิดว่า สองบทบาทนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ วันนี้เราเลยจะมาบอกเล่าเรื่องราวของ ยูคาอิ ชิมิซึ เจ้าอาวาสในญี่ปุ่น สู่เส้นทางตรัสรู้ด้วยการวิ่งมาราธอน ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย
เรื่องราวของ ยูคาอิ ชิมิซึ เจ้าอาวาสในญี่ปุ่น สู่เส้นทางตรัสรู้ด้วยการวิ่งมาราธอน
โดย ยูคาอิ ชิมิซึ ได้กล่าวไว้ว่า “สำหรับอาตมาในฐานะพระแล้ว การวิ่งคือการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน”

ผู้สืบทอดกิจการครอบครัว
ดูเหมือนว่าชีวิตของยูคาอิ ชิมิซึ ได้ถูกลิขิตมาให้มาอยู่ในเส้นทางสายธรรมะตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกเลยทีเดียว เขาถือกำเนิดในวัดที่ชื่อโทคุจุอิง จังหวัดนางาโนะ ดินแดนแห่งหุบเขาสูง โดยพ่อของเขาก็คือเจ้าอาวาสของวัดนี้
ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งนี่ไม่ถือเป็นการทำผิดศีล เพราะพระญี่ปุ่นสามารถแต่งงาน และมีลูกเหมือนคนทั่วไปได้ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยคามาคุระ (1185–1333) และถูกบัญญัติอยู่ในกฎหมายในช่วงสมัยเมจิ (1868-1912) ด้วยแนวคิดที่ว่า หากปรับตัวให้เข้ากับชาวบ้านก็จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นได้
โดย ยูคาอิ จึงคลุกคลีอยู่กับและอาศัยอยู่ที่วัดมาตั้งแต่เกิด และในขณะเดียวกันเขาก็ใช้ชีวิตตามปกติ ได้เรียนตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนเมื่อเขามีอายุ 22 ปีก็มาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เขาต้องบวชเป็นพระเพื่อรับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อจากพ่อ ในลักษณะการสืบทอดกิจการของครอบครัว
“อาตมามาอยู่วัดนี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ตอนอาตมาอายุ 22 ปี อาตมารับช่วงต่อมาจากพ่อ และได้เป็นเจ้าอาวาส”
และหน้าที่หลักของท่านชิมิซึ นอกจากดูแลวัดและทำวัตรสวดมนต์แล้ว ท่านยังรับคอยอาสาให้คำปรึกษาหรือคลายทุกข์ให้กับคนในชุมชนที่เผชิญกับความยากลำบากในชีวิตอีกด้วย
“หน้าที่ของอาตมาคือสนับสนุนและช่วยเหลือคนที่กำลังมีทุกข์หรือคนที่กำลังเศร้า” ท่านชิมิซึ กล่าวต่อ
ถึงแม้ว่ามันอาจจะเป็นหน้าที่ แต่ทุกครั้งที่รับปรึกษาปัญหาญาติโยม ท่านก็มักตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าตัวเองคู่ควรกับตำแหน่งนี้จริงหรือ ? จนบางครั้งรู้สึกแย่และคิดในแง่ลบ ซึ่งมันทำให้ท่านสับสนและทนทุกข์เป็นอย่างมาก
“ในฐานะที่อาตมาต้องดูแลวัดและใช้ชีวิตเป็นพระ มันก็มีช่วงเวลาที่อาตมาสับสน” พระชิมิซึ ได้อธิบาย
“ตลอดชีวิตอาตมาถามตัวเองเสมอว่า ‘อาตมาเป็นพระที่ดีหรือเปล่า ?’ และรู้สึกกังวลเมื่ออาตมาต้องอยู่ในที่ที่จำเป็นต้องอยู่ ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่มีคำตอบ อาตมารู้สึกขึ้น ๆ ลง ๆ เวลาถามตัวเอง”
และเมื่อไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ท่านจึงตัดสินใจออกวิ่ง

หนทางดับทุกข์
จริงที่จริงสำหรับพระในประเทศญี่ปุ่นแล้ว หากปฏิบัติกิจของสงฆ์เสร็จสิ้นพวกเขาก็สามารถไปทำอาชีพอื่นได้ ตัวอย่างเช่น โคโดะ นิชิมุระ ที่มีอีกอาชีพเป็นช่างแต่งหน้า หรือ ซาโตรุ สึคาโมโตะ ที่มีอีกบทบาทเป็นศิลปินในชื่อ “มงคิจิ” แห่งวง Funky Monkey Babys
โดยจะเช่นกันสำหรับพระชิมิซึ ท่านเลือกจะใช้เวลาว่างไปกับการวิ่งทุกเช้า โดยมีเหตุผลสำคัญคือการปลดปล่อยความเครียด ขณะเดียวกันมันเป็นการเคลียร์สมองทั้งจากความคิดในแง่ลบและเรื่องทุกข์ใจที่รับฟังมาจากญาติโยม
“แม้ว่าจะมีเรื่องกังวลหรือเรื่องที่ไม่ชอบใจให้คิด แต่พอไปวิ่งอาตมากลับลืมมันได้หมด มันจะถูกรีเซ็ต พอได้วิ่งอาตมาก็รู้สึกว่าตัวเองอ่อนโยนขึ้น มันเป็นเหมือนการเพิ่มพูนความรู้สึกให้ตัวเอง” พระชิมิซึ ได้กล่าว
แต่ทว่าท่านไม่ได้วิ่งแถววัดเท่านั้น แต่ยังจริงจังจนถึงขั้นลงแข่งขันมาราธอน โดยประเดิมรายการแรกเมื่อปี 2009 ในการแข่งขัน นางาโนะ มาราธอน รวมถึงยังได้ชวนพระในวัดอีก 5 รูปมาลงแข่งด้วย แต่น่าเสียดายที่การแข่งขันครั้งนั้นท่านวิ่งไม่จบ เมื่อได้รับบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน
“อาตมาอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม ตอนนั้นอาตมารู้สึกว่าฟูลมาราธอนมันสุดยอดมาก ส่วนอีกด้านหนึ่ง อาตมาก็อยากทำให้ได้สักครั้งในชีวิต” ท่านย้อนความหลัง
“นางาโนะ มาราธอน มีเวลาที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับมือใหม่ และอุปสรรคก็ค่อนข้างสูง แต่อาตมาคิดว่า อาตมาจะพยายามได้แค่ไหนถ้ามีพระคนอื่นมาวิ่งด้วย”
และหลังจากนั้น ท่านจึงเริ่มฝึกฝนอย่างจริงจัง แม้ว่าภารกิจในฐานะพระจะมีมากพอตัว ทั้งเป็นเลขาฯ รวมไปถึงไกด์ของวัด (วัดโทคุจุอิงเปิดให้คนทั่วไปมาเยี่ยมชมได้) แต่ท่านก็ยังหาเวลาซ้อมวิ่งได้ถึง 5 วันต่อสัปดาห์ โดยออกสตาร์ทตั้งแต่ตอนตี 4
ทำให้ภาพของชายอัธยาศัยดีพร้อมหมวกไหมพรมที่ออกวิ่งในเกือบทุกเช้ากลายเป็นภาพชินตาของคนในพื้นที่ ทั้งที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนี้ ท่านจะกลายเป็นผู้เคร่งศาสนาในชุดนักบวช
“เวลาที่อาตมารู้สึกแย่หรือกำลังดิ้นรนอะไรสักอย่าง การวิ่งสามารถช่วยเคลียร์สมองเราได้ มันเป็นเหมือนการเติมพลัง” พระชิมิซึ บอก
“มันทำให้อาตมาสามารถเผชิญกับความรู้สึกต่ำต้อยของตัวเอง รวมถึงความคิดด้านลบที่ถาโถมเข้ามา”
“บางปัญหามันก็ยากที่จะแก้ไข ถ้าหัวใจอาตมาได้เติมเต็ม อาตมาก็จะสามารถทำให้พวกเขา (ญาติโยม) รับมือกับความเศร้า หรือเผชิญหน้ากับความลำบากของตัวเองได้”

วิ่งเพื่อขัดเกลาจิตใจ
และสำหรับพระ ชิมิซึ ท่านอาจจะไม่ใช่นักวิ่งที่มีสถิติระดับประเทศ เพราะเวลาที่ดีที่สุดของพระรูปนี้ ตามหลัง เคงโงะ ซูซูกิ อยู่เป็นชั่วโมง ทว่าอันดับก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่พระชิมิซึสนใจตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะสำหรับท่าน การวิ่งก็เพื่อขัดเกลาจิตใจของตัวเอง
“เวลาอาตมาวิ่ง มีหลายครั้งที่อาตมาคิดเกี่ยวกับตัวเอง มันเหมือนว่าอาตมากำลังสำรวจตัวเอง จากในสถานที่ที่แตกต่างกันไป” พระชิมิซึ กล่าว
“การวิ่งนั้นแค่ใครสุขภาพดีก็วิ่งได้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องความเร็ว แต่เราไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร เราแค่วิ่งไปตามจังหวะของตัวเอง” เจ้าอาวาสวัดโทคุจุอิง กล่าว
“เมื่อก่อนอาตมาเคยขี่จักรยานเสือภูเขา อาตมาอยากเอาชนะใครสักคนแต่ก็ทำไม่ได้ แต่ในการวิ่งมาราธอน อาตมาไม่สนใจอันดับเลย ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน ความรู้สึกที่ได้ลิ้มรสกับความสำเร็จตอนวิ่งจบมันชัดเจนมาก”
“แสงที่เจิดจ้าจะกลายเป็นความสว่างให้แก่คนข้างๆ การวิ่งและการเผชิญหน้ากับตัวเองบางทีมันอาจจะช่วยให้อาตมาเจิดจ้ามากขึ้น และความสว่างนั้นก็จะตกไปถึงคนอื่นด้วย”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันคือการตามหาการรู้แจ้งหรือที่เรียกกันว่า “ตรัสรู้” ซึ่งแม้ว่าไม่มีใครรู้ว่าท่านชิมิซึจะได้พบสิ่งนี้หรือไม่? แต่มันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านยังคงผูกเชือกรองเท้าแล้วออกไปสัมผัสธรรมชาติในทุกเช้าต่อไป
“ความไม่สมบูรณ์แบบถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันทำให้อาตมาแสวงหาความบริบูรณ์ได้”
“เพราะสุดท้ายแล้ว การแสวงหาเส้นทางตรัสรู้ คือเหตุผลที่ทำให้อาตมายังคงวิ่งต่อไป” พระชิมิซึ ทิ้งท้าย
และนี้ก็คือเรื่องราวของ ยูคาอิ ชิมิซึ เจ้าอาวาสในญี่ปุ่น สู่เส้นทางตรัสรู้ด้วยการวิ่งมาราธอน แบบคร่าว ๆ ที่เราได้นำมาบอกเล่าให้แก่ทุกคน ต้องบอกเลยว่า เป็นถือเป็นเรื่องที่ควรยกย่องอย่างมาก และสอนผู้คนได้ดีเลยทีเดียว
นอกจากเรื่องราวดี ๆ ที่เรานำมาฝากทุกคนแล้ว ยังมีบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการออกกำลังกายด้วยการแพลงก์กิ้ง ที่จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อในร่างกายของคุณให้มีความยืดหยุ่น และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงท่าออกกำลังกายในการบริหารปอดให้แข็งแรง ช่วยฟื้นฟู และบริหารปอดของคุณให้แข็งแรงอยู่เสมอ